วันเสาร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2554

นาฬิกาที่เที่ยงตรงที่สุดในโลก

                  เวลาเป็นหน่วยพื้นฐานอย่างหนึ่งในโลกของวิทยาศาสตร์ ไม่นานมานี้นักวิทยาศาสตร์แห่งสถาบันมาตรฐานและเทคโนโลยีแห่งชาติ (NIST) ในโคโลราโด สหรัฐอเมริกา ได้พัฒนานาฬิกาอะตอม ที่มีความละเอียดสูงในระดับที่จะคลาดเคลื่อนไปเพียง 1 วินาทีในรอบ 100 ล้านปี เที่ยงตรงกว่านาฬิกาซีเซียมที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

                  นาฬิกาอะตอมชนิดใหม่นี้ ทำงานด้วยหลักการพื้นฐานเดียวกับนาฬิกาอะตอมซีเซียมที่มีขึ้นตั้งแต่ทศวรรษ 1950 แต่มีความเที่ยงตรงมากกว่าราว 100-1,000 เท่า การพัฒนานาฬิกาให้มีความแม่นยำมากขึ้นนี้ส่งผลดีอย่างมหาศาลต่อเทคโนโลยีหลายรูปแบบ

                  นับจากนาฬิกาน้ำที่สร้างขึ้นโดยชาวจีน เมื่อต้นศตวรรษที่ 11 นาฬิกาถูกพัฒนาเรื่อยมาจนถึงนาฬิกาอะตอมที่มาจากการวัดโดยละเอียดของการแผ่ไมโครเวฟของอะตอมซีเซียม เทคโนโลยีของนาฬิกาอะตอม ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถกำหนดได้ว่า 1 วินาที เท่ากับการแผ่รังสี 9,192,631,770 รอบ ที่มาจากการเปลี่ยนระดับพลังงานกลับไป-มาที่สถานะพื้นของอะตอมซีเซียม-133

                   นาฬิกาอะตอมแบบใหม่นี้ มาจากความถี่ของไอออนเดี่ยวของปรอทที่ถูกทำให้เย็นลงเชื่อมกับเลเซอร์ที่แกว่งแบบเพนดูลัมเพื่อทำให้เกิดสัญญาณนาฬิกา พัฒนาการของนาฬิกาที่เกิดขึ้นนี้มีประโยชน์ในชีวิตประจำวัน เช่น การส่งผ่านข้อมูลความเร็วสูง การคำนวณการโอนเงินของธนาคาร และการส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ยังส่งผลดีต่อเทคโนโลยีด้านอวกาศ เช่น วงโคจรของดาวเทียมที่มีความแม่นยำขึ้น การนำร่องในห้วงอวกาศ และการส่งสัญญาณติดต่อระหว่างยา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น